easyenglish

เรียนภาษาอังกฤษตัวต่อตัว

ภาษาอังกฤษง่ายกว่าที่คุณคิด ...

เกร็ดความรู้ / Tips






Do we need to translate that? Maybe not!

 

สวัสดีครับ วันนี้พบกันอีกเช่นเคย ทว่าวันนี้ ผมจะพาทุกท่านมาพูดถึงประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรสักหน่อย

“เราควรจะต้องแปลคำนี้ไหม” หรือ “คำนี้ในภาษาอังกฤษว่าอย่างไรดี” เป็นคำถามที่ผมพบเจอเป็นประจำเวลาสอน และเป็นคำถามที่นักเรียนหลายๆคนอยากจะถามผู้สอนอยู่ตลอดๆเวลาเจอ “คำ” ใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันนะครับโดยเฉพาะบรรดา “ชื่อ” ต่างๆโดยเฉพาะอาหารเพื่อที่จะได้สื่อสารกับเพื่อนชาวต่างชาติได้อย่างเข้าใจตรงกัน

อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนบุคคลสูง ผมเองก็เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีความเห็นต่อเรื่องๆหนึ่งไม่ต่างกับอีกหลายๆคน แม้จะเป็นความเห็นจากมืออาชีพ มืออาชีพเองก็มีความเห็นต่อเรื่องเดียวกันต่างๆกันไปอีกอยู่ดี ดังนั้นความเห็นของผมในเรื่องนี้ก็อย่าไปคิดว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง 100% แต่ให้มองว่าเป็นความคิดเห็นชิ้นหนึ่งที่อาจจะมีประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ

ทุกๆท่านคงจะเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เวลาที่เรียนภาษาอังกฤษว่าเมื่อพุดถึงคำนาม หากเป็นคำนามชนิดที่เรียกว่า Proper Nouns หรือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะ ว่าคำนามเหล่านั้นจัดอยู่ในหมวดของคำที่ “ไม่ต้องแปล” ในภาษาอังกฤษ และสามารถจำแนกได้ง่ายด้วยการที่คำๆนั้นขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่เวลาเขียนในประโยคแม้จะไม่ได้วางไว้หน้าประโยคก็ตาม เช่น “Mr. Brown” ก็แปลเป็น “คุณบราวน์” โดยไม่เกี่ยวกับสีน้ำตาลใดๆทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า “Brown” ในที่นี้ เป็นชื่อเฉพาะ ตัวอย่างอื่นๆที่เห็นชัดๆก็เช่นชื่อประเทศต่างๆ “America” “England” “Singapore” หรือชื่อเมืองเช่น “Bangkok” “Moscow” “Buenos Aires” เป็นต้น ที่ทุกๆท่านก็ทราบกันดี

นั่นคือหลักการแปลเบื้องต้นของภาษาอังกฤษที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กนะครับ ทีนี้วกกลับมาดูภาษาไทยของเราบ้าง หลายๆครั้ง ที่ผมเห็นนักเรียนหลายๆคนประสบปัญหาในการที่จะแปล “ชื่อ” กลับไปเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งโดยหลักแล้วปัญหาจะเกิดบ่อยครั้งกับ “ชื่ออาหารไทย” เช่นพยายามจะแปล “ผัดกะเพรา” ว่า “stir fried pork with basil” แปล “ส้มตำ” ว่า “papaya salad” หรือแม้กระทั่งโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มีการแปลชื่อของอาหารไทยมากมายหลายชนิดเป็นภาษาอังกฤษที่พบเห็นได้บ่อยๆ ผมไม่ได้ต่อต้านแนวความคิดที่จะแปลชื่ออาหารไทยเป็นภาษาอังกฤษนะครับ แต่เพียงแค่ว่าสำหรับผมแล้ว ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่ “has no practical uses” หรือ ไม่มีประโยชน์ในด้านการใช้งานจริงต่างหากครับ

เพราะอะไรผมถึงกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่าลักษณะการแปลดังกล่าว เมื่อแปลแล้วไม่ออกมาในลักษณะของคำที่กระชับ กินความครบถ้วนและสามารถนำไปใช้ได้จริง ทว่าเป็นการแปลในเชิง “ให้คำอธิบาย“ต่างหาก หมายถึงว่าคำแปลเช่น “stir fired pork with basil” นั้นเป็นการแปลในเชิงการอธิบายว่าในอาหารจานนี้มีอะไรบ้าง ก็ได้แก่ pork (หมู) และ basil (ใบกะเพรา) (แม้จะขาด garlic (กระเทียม) และ chili (พริก) ไปก็ตาม) และอาหารจานนั้นผ่านการปรุงมาแบบไหน คือการ stir fry (ผัด) หรือ papaya salad ว่าประกอบด้วย papaya (มะละกอ) เป็นหลัก และมีการเตียมอาหารแบบ salad (สลัด) แต่คำแปลดังกล่าวขาดความกระชับอย่างเห็นได้ชัดเจนในกรณีของผัดกะเพรา และไม่สามารถกินความครบถ้วนในกรณีของส้มตำเพราะคำว่า “salad” ให้ภาพของสลัดในแบบทั่วไปมากกว่าที่จะให้ภาพของส้มตำที่เราเข้าใจกัน ส่วนที่บอกว่าใช้งานไม่ได้จริงในชีวิตประจำวันก็เพราะว่าสมมติกรณีชาวต่างชาติคนหนึ่งเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เกิดหิวขึ้นมาเดินเข้าร้านอาหารตามสั่งบอกกับพนักงานเสิร์ฟว่า “Stir fried pork with basil, please” พนักงานเสิร์ฟจะต้องงงอย่างแน่นอน และไม่แน่ว่าคนในร้านที่ได้ยินก็จะงงด้วย ว่าตาฝรั่งคนนี้เขาอยากกินอะไรกัน เพราะความไม่เข้าใจว่าที่ตาแกพูดมายาวๆนั้น หมายถึงอะไรกันแน่ จึงจะเห็นได้ว่า การแปลในลักษณะนี้ แม้จะทำให้ชาวต่างชาติ “เข้าใจ”อาหารจานนั้นๆมากขึ้น แต่ว่าในชีวิตประจำวันแล้ว แทบจะเป็นอะไรที่ไร้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้

จากเหตุผลดังนี้ครับ ที่ทำให้ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งเลยว่าการแปลในลักษณะนี้ไม่ได้ผล หมายถึงไม่ได้ผลที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติกับทั้งผู้พูด และผู้รับสาร ก็เพราะว่าผู้พุดและผู้ฟัง ไม่สามารถเข้าใจได้ตรงกันในเรื่องที่กำลังพูด ดังนั้นผมจึงคิดเห็นว่า ในการที่จะบอก หรือแนะนำอาหารไทย (หรืออาจจะสิ่งอื่นๆที่มีชื่อเฉพาะในภาษาไทยแต่ไม่สามารถหาคำเทียบคียงได้ในภาษาอังกฤษ) นั้น ควรจะใช้วิธีการ “ทับศัทพ์” ไปเลยจะดีกว่า เรียก “ผัดกะเพรา” ว่า Pad Kaproa เรียก “คะน้าหมูกรอบ” ว่า “Kana Moo Grob” เรียก “หมูกระเทียม” ว่า “Moo Gra Tium ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะชื่อของอาหารไทยของเรานั้นมีลักษณะเป็น Proper nouns คือเป็นชื่อเฉพาะอยู่แล้วที่ไม่ต้องแปล และการทับศัพท์ลักษณะนี้ก็เหมือนกับเวลาที่เราไม่ได้แปลคำว่า “Pizza” แต่ทับศัพท์ลงมาตรงๆว่า “พิซซา” “Hamburger” ว่า “แฮมเบอเกอร์” “Doughnut” ว่า “โดนัท” ไม่ใช่ “แป้งอบหน้าเนื้อและซอสมะเขือเทศ” “เนื้อบดย่างประกบขนมปัง” หรือ “ขนมแป้งวงทอดโรยน้ำตาล” แต่เราก็ยังสามารถนึกถึงอาหารนั้นๆได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และสามารถใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของคำเรียกหรือชื่อเฉาพะเหล่านั้นได้อย่างเข้าใจ เมื่อทับศัพท์ให้ชาวต่างชาติรู้จักชื่อเรียกที่ถูกต้องอย่างนี้เรียบร้อยแล้ว จึงอธิบายว่าผัดกะเพราคืออะไร คะน้าหมูกรอบคืออะไร หมูกระเทียมคืออะไร โดยใช้คำแปลที่เป็นคำอธิบายแบบที่เราได้พูดถึงกันไปข้างต้นเพื่อให้ชาวต่างชาติคนนั้นเข้าใจ เท่านี้ ชาวต่างชาติคนนั้นก็จะได้รู้ชื่อที่แท้จริงของอาหารไทย สามารถที่จะเดินเข้าร้านอาหารตามสั่งที่ไหนก็ได้ แล้วสามารถสั่งมื้อเที่ยงของเขากินได้อย่างสบายใจ และใช้ชีวิตในเมืองไทยได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น และดึงดูดให้ชาวต่างชาติต่างๆอยากกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกบ่อยๆก็เป็นได้ครับ

และนี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องแปลทุกคำที่เราใช้เป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะบรรดาชื่อเฉพาะๆต่างๆโดยเฉพาะอาหารไทยครับ หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับเกร็คความรู้ในวันนี้ และอย่างที่บอก ว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นของคนเพียงคนเดียว อาจจะถูกต้อง หรืออาจจะผิด ก็ต้องให้ท่านผู้อ่านทุกท่านใช้วิจารณญาณในการอ่านและตัดสินด้วยตนเองนะครับ สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

<< Back

เกร็ดความรู้


สวัสดครับนักเรียนภาษาอังกฤษทั้งหลาย  ไปลองฟังกันเลย ว่าสำนวนภาษาอังกฤษที่จะสอนวันนี้คืออะไร 
 
สำนวนที่จะสอนวันนี้นะครับคือสำนวนที่เอาไว้ใช้เวลาเราบอกว่า ทำสิ่งนี้แล้วมันได้ผล แล้วมันก็ใช้งานได้เลยภาษาอังกฤษนั่นเองนะครับ 
 
do the trick แปลว่า ได้ผล, สำเร็จ
I turned it off and back on, and that did the trick.
ฉันปิดแล้วก็เปิดมันใหม่ แล้วมันก็ใช้ได้เลย
 
หวังว่าทุกคนจะพยายามฝึกออกเสียงตามกันนะครับ 
แล้วพบกันใหม่ รอบหน้า สวัสดีครับ
อ่านเกร็ดความรู้ย้อนหลัง